Tinkerbell Glitter

วันอังคารที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2557

"8 สิ่ง" ที่รถไฟญี่ปุ่นไม่เหมือนรถไฟไทย

   วันนี้จะพาไปเจอกับคอลัมน์ JaPON JaPAN(เจปง เจแปน) สำหรับวันนี้ได้นำเรื่องเกี่ยวกับรถไฟญี่ปุ่นมาฝาก มาดูกันให้เห็นชัดๆ ว่ารถไฟของประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป๊ะ ความเนี้ยบ และความตรงเวลาอย่างญี่ปุ่นมีอะไรที่น่าสนใจที่รถไฟประเทศเราไม่มี เชื่อว่าหลายๆ อย่างนับว่าดีมากหากมาประยุกต์ใช้กับรถไฟบ้านเรา เลยเอามาแชร์ให้อ่านกันค่ะ^^


1. โบกี้สำหรับผู้หญิง (女性専用)


   ที่ญี่ปุ่น ในรถไฟหนึ่งขบวนจะมีสักหนึ่งโบกี้ที่จัดไว้ให้สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ยิ่งช่วงเวลาเร่งด่วน รถไฟญี่ปุ่นเบียดสุดๆ เบียดแบบชนิดที่ว่าพี่โชไม่ไหวแล้ว เอาเป็นว่าถึงขั้นแก้มแนบแก้ม ก้นแนบก้น อกแนบอก (พูดจริงๆ ไม่ได้ทะลึ่ง) รับรู้ได้ถึงชีพจรของแต่ละคนที่ยืนติดกับเราเป็นเสียง ตุ้บ ตุ้บ เลยทีเดียว ยิ่งต้องหายใจร่วมกัน (คือยิ่งกว่าหายใจรดต้นคออีกอะ) แทบพลีชีวิต พูดตรงๆ เลยว่าบางทีรอบตัวมีแต่คุณลุงหน้าตาหื่นๆ อาบน้ำตอนเช้ารึเปล่าไม่รู้ ขนาดพี่โชเป็นผู้ชายยังสยอง ก็ไม่แปลกที่สาวๆ ญี่ปุ่นหลายคนไม่กล้าจะขึ้นไปเบียดด้วยสภาพนั้น 

   ทางการญี่ปุ่นจึงจัดให้รถไฟซักโบกี้นึงเป็นโบกี้เฉพาะสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะเวลาเร่งด่วนที่เบียดๆ สาวๆ ทั้งหลายจะได้ไม่ต้องกลัวโดนลวนลามหรือเบียดกับผู้ชายในตู้ทั่วไป โดยมากตู้สำหรับผู้หญิงจะเป็นช่วงเวลาเช้าและเลิกงานที่คนเยอะจริงๆ ในระหว่างวันตู้นั้นผู้ชายก็สามารถขึ้นได้ตามปกติครับ ใครจะไปญี่ปุ่นโดยเฉพาะโตเกียวลองสังเกตสติกเกอร์สีชมพูๆ แบบนี้ให้ดีนะครับ เป็นประโยชน์แน่นอนเพราะหมายถึงตู้นั้น สำหรับผู้หญิงขึ้นโดยเฉพาะ ตู้แบบนี้มีไว้ก็ไม่เลวเลยใช่มั้ยล่ะ สาวๆ คนไหนใคร่ขึ้น...ขึ้น ใครใคร่ขึ้นขบวนเบียดกับผู้ชาย...เบียด 555


2. โบกี้สำหรับคนขี้หนาว(弱冷房車)


    ด้วยความขี้หนาวของคนญี่ปุ่นนี้เอง ก็ไม่แปลกที่ญี่ปุ่นจะมีรถไฟบางขบวนที่เปิดแอร์เบาๆ เบาแบบว่าบางทีพ่นลมเฉยๆ ไม่ปรับอุณหภูมิ จริงๆ นะ ไม่ได้หลอก เรียกกันว่าเปิดแบบ 送風 ใครอ่านตัวจีนออกก็จะเข้าใจทันทีว่าแปลว่า พ่นลม/ส่งลม การเปิดแอร์แบบนี้ คนไทยที่เพิ่งมาญี่ปุ่น พี่โชมั่นใจว่าตายยยยยยแน่ๆ 
   
    รถไฟหลายๆ ขบวนที่ญี่ปุ่นมักจะมีรถไฟสำหรับคนขี้หนาวนี้อยู่ นั่นหมายถึง หน้าร้อนจะเปิดแอร์ไม่แรง แต่หน้าหนาวโบกี้นี้ก็จะอุ่นกว่าโบกี้อื่นๆ ถ้าใครมาญี่ปุ่นก็อย่าลืมสังเกตสัญลักษณ์แอร์เบานี้ด้วยนะครับ ไม่งั้นต้องทนร้อนไปตลอดทาง ไอเดียนี้ที่ไทยน่าจะเอาไปประยุกต์เป็นขบวนแอร์แรง พี่โชว่าคนขึ้นกันตรึม

3. แยกแถวต่อสำหรับคนที่จะขึ้นก่อนขึ้นหลัง (先発列車・次発列車)

    อันนี้อาจงงหน่อย แต่เหมาะมากในการสร้างระเบียบในการต่อแถวครับ ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังจะกลับบ้านด้วยรถด่วน แต่รถที่มาถึงก่อนเป็นรถแบบจอดทุกสถานี (หวานเย็น) ที่ญี่ปุ่นก็จะมีที่ยืนให้เราต่อแถวรอรถขบวนต่อไปแบบไม่เกะกะคนที่จะขึ้นรถขบวนก่อนเรา โดยเขียนเป็นเส้นที่พื้น ปัดหางแถวสวยงามไม่ขวางทางใคร ป้องกันการแซงแถวและการยืนออกันมั่วๆ ซึ่งอาจสร้างความลำบากแก่คนขึ้นลงขบวนก่อนหน้าเรา


   ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงดูเป็นประเทศที่เป็นระเบียบมากเวลาจะขึ้นหรือลงรถไฟ นอกจากจะสวยงามน่าดูชมแล้ว ยังไม่ก่อให้เกิดความเครียดจากการแย่งชิงเพราะไม่ต่อแถวอีกด้วย

4. ไม่ใช้มือถือพูดคุยเด็ดขาด(車内通話禁止)


   อันนี้อาจจะโหดไปหน่อยสำหรับสังคมไทย แต่ที่ญี่ปุ่นเป็นเรื่องปกติมากที่จะไม่พูดโทรศัพท์ในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในรถไฟนี่แทบจะเรียกว่าต้องห้ามเลยด้วยซ้ำ ใครหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา “ฮัลโหลลลลล” เมื่อไหร่นี่โดนมองตั้งแต่หัวจรดเท้าแน่นอน 
   
   ตอนที่พี่โชมาญี่ปุ่นใหม่ๆ ก็สุดแสนจะอึดอัดที่ไม่สามารถจะคุยโทรศัพท์ด้วยเสียงในรถไฟได้ แต่อยู่ไปนานๆ ก็เริ่มชิน แถมสมัยนี้มี application ให้เล่นได้มากมาย ไม่คุยโทรศัพท์ในรถไฟจึงเป็นเรื่องไม่ยากแล้วเพราะมีอะไรให้ทำแทน
   
    บางคนอาจถามว่าทำว่าทำไมที่ญี่ปุ่นต้องซีเรียสกับการห้ามคุยโทรศัพท์บนรถไฟด้วย เหตุผลแรกๆ เลยคือ มารยาทครับ มีงานสำรวจความเห็นคนญี่ปุ่น สิ่งที่น่ารำคาญที่สุดบนรถไฟคือเสียงโทรศัพท์เรียกเข้าและเสียงการคุยโทรศัพท์ ถ้าใครนึกไม่ออกว่าน่ารำคาญยังไง ให้นึกถึงเสียงริงโทนแสนแซ่บเมกะฮิตซ์แดนซ์กระจายในรถไฟบ้านเรา หรือคนที่นั่งเม้าท์โทรศัพท์ตลอดทาง จนเราซึ่งแอบฟังอยู่แทบจะช่วยนางออกความเห็นตามไปด้วย ฮ่าๆ 



5. ต้องปิดสัญญาณมือถือในที่นั่งคนชรา หญิงมีครรภ์ ผู้มีปัญหาทางร่างกาย(優先席携帯電話OFF)


   นอกจากจะไม่ค่อยเจอคนคุยด้วยเสียงดังในรถไฟแล้ว ที่ญี่ปุ่นจะมีการแบ่งที่นั่งที่หัวหรือท้ายขบวนให้กับผู้ชรา หญิงมีครรภ์ และคนที่อาจมีปัญหาทางร่างกาย เป็นต้น ที่นั่งนี้จะมีป้ายเขียนประมาณว่า...นอกจากเราจะต้องสละที่นั่งให้พวกเขาเหล่านั้นก่อนแล้ว หากอยากอยู่บริเวณนั้น ก็ต้องปิดสัญญาณสื่อสารให้หมดด้วย พูดง่ายๆ คือปิดมือถือนั่นเอง

    ตอนแรกๆ พี่ก็สงสัยว่าทำไมต้องปิดเครื่อง แค่ปิดเสียงไม่พอหรือไง อะไรเนี่ย งงมาก แต่พอได้รู้เหตุผลก็ถึงกับทึ่งและซึ้งใจ ที่ต้องปิดเครื่องนั้นเป็นเพราะบางคนอาจใช้เครื่องช่วยฟัง เครื่องนับก้าว เครื่องที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ใดๆ ที่ผู้ป่วยใส่อยู่ หากมีสัญญาณมือถือรบกวนอาจทำให้เครื่องนั้นทำงานได้ไม่เต็มที่ 

    ลองนึกง่ายๆ ดู ใครเคยเอามือถือไปวางใกล้ลำโพงแล้วพอมีสายเรียกเข้า จะมีเสียงตือดือดึดๆๆ แปลกประหลาดบ้าง นั่นแหละ น่าจะคล้ายกัน ซึ่งผู้ที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์อาจโดนสัญญาณรบกวนแบบนั้นจริงๆ นับถือคนญี่ปุ่นจริงๆ ที่คิดคำนึงถึงคนอื่นแม้แต่เรื่องเล็กๆ ที่ตามองไม่เห็นแบบนี้

6. การขึ้นบันไดเลื่อน(エスカレーターの立ち位置)


   ประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ไม่ว่าจะที่ไทยหรือที่ไหนๆ ว่า เวลาขึ้นบันไดเลื่อนต้องชิดซ้ายหรือชิดขวากันแน่?? อย่างที่โตเกียว คนส่วนมากจะชิดซ้าย ส่วนที่โอซาก้า คนจะชิดขวากันหมด เช่นเดียวกับที่เรากำลังรณรงค์กันในรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดินที่กรุงเทพฯ

   จริงๆ ที่ญี่ปุ่นมีการชิดด้านใดด้านหนึ่งอย่างเป็นระเบียบนี้มานานมากแล้ว ในขณะที่บ้านเรากำลังเริ่มต้นรณรงค์จริงจัง แต่ที่น่าแปลกใจคือ ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นกำลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้น พยายามให้คนยืนทั้งสองฝั่งของบันไดเลื่อน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยบ้างล่ะ จะได้ไม่มีคนวิ่งบนบันไดเลื่อน หรือด้วยเหตุผลของการบำรุงรักษา เพราะถ้ายืนออกันด้านเดียวอาจเกิดความไม่สมดุลของบันไดเลื่อน ก็ว่ากันไป (เท่าที่ได้ยินมาเป็นแบบนี้)

    ด้วยเหตุนี้ หลายๆ ที่ในญี่ปุ่นในตอนนี้ แทนที่จะให้ยืนชิดด้านใดด้านหนึ่ง เราจะเห็นป้ายที่เขียนว่าให้ยืนทั้งสองฝั่งแทน เอ๊ะ อะไรยังไง? ที่ไทยรณรงค์แทบตายให้ยืนชิดขวาเป็นระเบียบ ทำไมญี่ปุ่นกลับตรงกันข้ามกันล่ะเนี่ย ต้องติดตามกันต่อไปครับ

7. พนักงานช่วยยัดคนลงไปในรถไฟ (満員電車に乗客を押し込む駅員


    ตอนชั่วโมงเร่งด่วน รถไฟในโตเกียวโดยเฉพาะสายจากชานเมืองเข้ามาตัวเมือง อัดแน่นยิ่งกว่าอะไรในโลกใบนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือนายสถานีที่ต้องทำหน้าที่พิเศษ นั่นคือคอยผลักและยัดผู้โดยสารเข้าไปในรถให้ได้มากที่สุด

8. ใบแจ้งว่ามาสายเพราะรถไฟ(遅延証明書)


   สมมติว่าวันไหนเกิดเหตุที่ทำให้รถไฟมาช้า แล้วทำให้เราไปโรงเรียนหรือที่ทำงานไม่ทัน ที่สถานีรถไฟจะมีกระดาษวางตั้งเอาไว้ให้เราหยิบไปเป็นหลักฐานว่าไม่ใช่ความผิดของเรานะ แต่เป็นเพราะรถไฟช้า หัวหน้าหรืออาจารย์จะได้ไม่สามารถเอาผิดเราได้ บางที่มีให้เลือกหยิบได้ว่าสายไปแล้วกี่นาทีแบบในรูปที่พี่โชหามาให้ดู เขาเขียนเป็นเลขเวลา 10 20 30 นาทีเลยทีเดียว แหม อยากให้ที่จ่ายเงินทางด่วนบ้านเรามีใบนี้ให้หยิบบ้างจังเลย 


Cradit:http://board.postjung.com/804665.html,Dek-D.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น